CPTPP กับโอกาส และผลกระทบของประเทศไทย

หลายคนคงสงสัยว่า ตัวอักษรภาษาอังกฤษ 5 ตัวนี้ “CPTPP” คืออะไร แล้วทำไมหลายภาคส่วนถึงให้ความสนใจ ข้อตกลงทางการค้า “ซีพีทีพีพี” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) เป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง 11 ประเทศ ในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย, บรูไน ดารุสซาลาม, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยพัฒนามาจากการเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ “ทีพีพี” (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งเดิมทีมี “สหรัฐอเมริกา” รวมอยู่ด้วยก่อนที่ภายหลังจะถอนตัวออกมา ซึ่งข้อแตกต่างระหว่าง CPTPP กับ TPP คือขนาดของเศรษฐกิจ และการค้าที่เล็กลง แต่มีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น

CPTPP จะส่งผลดีกับประเทศอื่นๆ อย่างไร

ประเทศญี่ปุ่น – องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยว่า มีการศึกษาผลจากการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 7.5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าข้อตกลงที่ทำกับสหภาพยุโรป(อียู)โดยที่ CPTPP จะมีการลดภาษีสินค้าถึง 95% ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่จะได้จากการส่งออก ญี่ปุ่นยังมองถึงการเชื่อมโยงประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมธุรกิจ E-commerceที่ จะช่วยเสริมธุรกิจภาคบริการของและดิจิทัลของญี่ปุ่นในอนาคต

ประเทศเวียดนาม – เวียดนามได้เข้าร่วม CPTPP ตั้งแต่ปี 2519 (พ.ศ. 2562) และหลังจากนั้น 1 ปี เวียดนามพบว่ามูลค่าการส่งออกสูงถึง 4.11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้านับเฉพาะในกลุ่มลาตินอเมริกา (เม็กซิโก เปรู และชิลี) เป็นการเติบโตสูงถึง 26.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 (พ.ศ. 2562) โดยเฉพาะกับประเทศชิลีที่เติบโตสูงถึง 36.40%

นอกจากตัวอย่าง 2 ประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP แล้วยังมีประเทศที่อยากจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP อาทิเช่น สหราชอาณาจักร – รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้เหตุผลเบื้องต้นไว้ 3 ข้อ คือ CPTPP จะช่วย 1) เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน, 2) ทำให้การเชื่อมโยงการค้าและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) มีความหลากหลาย และ 3) ทำให้มั่นใจได้ว่าในอนาคต สหราชอาณาจักรจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก สร้างประโยชน์ให้ประเทศในระยะยาว

โอกาส และผลกระทบ ถ้าประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP

ปัจจัยเกื้อหนุนของประเทศไทยหากรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลง CPTPP คือ 1) การส่งออก CPTPP คือจะเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย 2) การลงทุนจากต่างประเทศ การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP และ 3) ความสามารถทางการแข่งขัน CPTPP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง

       ขณะเดียวกันจะมี 2 ธุรกิจของไทยที่โดนผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP คือ

ธุรกิจบริการ – CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ negative list หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนหมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติในอนาคต

อุตสาหกรรมเกษตร- มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้ ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้ว จะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะร่วมเจรจรา และตกลงเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรีใดๆ จะต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการทำงาน ทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้สิทธิ และโอกาส รวมถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับ และการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งทางผู้เขียน และบริษัท SBCS จำกัด หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจเกี่ยวข้องจะมีมติที่เป็น “The Right Choice and The Right Decision” สำหรับประเทศไทย และนักลงทุนในอนาคตต่อไป

Contact
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สอบถามทางโทรศัพท์
+66 2 677 7270-5
10th Floor, Q. House Lumpini Building,
No. 1 South Sathorn Road, Tungmahamek, Sathorn, Bangkok 10120, Thailand